ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 นั้น คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUMT) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ร่วมให้บริการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อก่อโรค COVID-19 หรือเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิค real-time RT-PCR โดยได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคระดับโมเลกุล เมื่อเดือนเมษายน 2563 เพื่อตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ณ อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ วิทยาเขตศาลายา โดยในระยะแรก คณะฯ ให้บริการตรวจวินิจฉัยตัวอย่างจากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหลัก ต่อมาคณะฯ ได้ขยายบทบาทการให้บริการจากการตั้งรับเป็นการให้บริการเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ (Active case finding) โดยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ 1) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และ 3) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม

การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Active case finding) มุ่งเน้นการตรวจหาเชื้อให้แก่ 1) กลุ่มคนไร้บ้านซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพได้ยาก 2) กลุ่มผู้ต้องขังแรกรับในเรือนจำต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในเรือนจำซึ่งมีคนอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก และ 3) ประชาชนทั่วไปที่เข้าข่ายความเสี่ยงสูงในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นนทบุรี และ สำนักอนามัย กทม. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ คณะเทคนิคการแพทย์ยังให้บริการตรวจคัดกรองแก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีความเสี่ยงสูงอีกด้วย ตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อระลอกแรกจนถึงเดือน พฤษภาคม 2564 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่คณะฯ ให้บริการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อก่อโรค COVID-19 คณะฯ ได้ออกให้บริการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ (Nasopharyngeal and throat swap) และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 70,000 ราย (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2564)

เมื่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้แผ่ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้มีประชาชนผู้ติดเชื้อจำนวนมากยิ่งขึ้น จนส่งผลกระทบต่อความสามารถของห้องปฏิบัติการในการตรวจหาเชื้อด้วยเทคนิค real-time RT-PCR คณะฯ จึงได้ประสานการทำงานร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการออกให้บริการเชิงรุกเพื่อตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วย antigen test kit ที่สามารถทราบผลการตรวจภายใน 30 นาที ซึ่งจะช่วยให้บริการแก่ประชาชนผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อกลุ่มต่างๆ อาทิ ประชาชนทั่วไป ผู้ทุพพลภาพ ผู้ใช้แรงงาน และผู้ยากไร้ ได้เป็นจำนวนมาก การตั้งหน่วยให้บริการตรวจด้วย antigen test kit ณ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 12-30 กรกฎาคม 2564 และ 2-3 สิงหาคม 2564 คณะฯ ร่วมให้บริการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 กลุ่มต่างๆ วันละประมาณ 2,500-2,600 คน

หลังกระบวนการตรวจคัดกรอง ยังมีการให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้รับบริการทุกคน ไม่ว่าจะมีผลการตรวจเป็นลบหรือเป็นบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวกและได้รับการตรวจยืนยันซ้ำจะได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเอง และการปฏิบัติตนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้อย่างปลอดภัยในระหว่างพักรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home isolation นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยา Favipiravir ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการ เพื่อใช้สำหรับรักษาอาการอย่างทันท่วงทีรวมทั้งป้องกันการดำเนินโรคไปสู่อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น และยังมีการให้บริการรถรับส่งแก่ผู้รับบริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือต่างจังหวัดในกรณีที่ผู้ป่วยประสงค์จะกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด โดยการบริการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อย่างมาก

การให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกและการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดโดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทีมทันตแพทย์อาสาสมัคร และอาสาสมัครกลุ่มอื่นๆ ถือเป็นการให้บริการอย่างครบวงจร ซึ่งการดำเนินการนี้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการดูสุขภาพประชาชนโดยทำให้ประชาชนเข้าสู่การบริการได้ง่าย รวดเร็ว และครบวงจร ทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อดีขึ้น คลายความวิตกกังวล เนื่องจากได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดีและมีแนวทางในการรักษาอย่างชัดเจน