คณะเทคนิคการแพทย์ ขับเคลื่อนกระบวนการตรวจรับรองอาหารปลอดภัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการบริโภคอาหารปลอดภัย โดยการใช้ศักยภาพพื้นที่ครอบคลุมกลุ่มจังหวัดภาคกลาง 8 จังหวัด ในการยกระดับสู่การเป็นแหล่งผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัย เพื่อรองรับการบริโภคทั้งภายในประเทศ /ประเทศเพื่อนบ้านและการส่งออกตามเป้าหมายการเป็นครัวของโลกได้ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานโดยการตรวจรับรองผลผลิตผักและผลไม้จากแปลงเกษตรที่ปลอดจากสารพิษตกค้างยาฆ่าแมลง ซึ่งครอบคลุมการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างยาฆ่าแมลง โลหะหนัก จุลชีพ และเชื้อก่อโรค ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พัฒนาอาชีพที่สร้างมูลค่าเพิ่ม การยกระดับรายได้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงเรียน หรือหน่วยงานของแต่ละจังหวัด รวมถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้บริโภคโดยทั่วไป ซึ่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร จะนำไปสู่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่กลุ่มจังหวัดภาคกลางในระยะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

ประโยชน์ในเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจ

1.เกิดการผลิตผักและผลไม้ที่ปลอดภัยที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด มีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยและผู้บริโภค สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการยกระดับเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เป็นการใช้ผลผลิตภายในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เป็นการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยั่งยืน
2.เสริมสร้างความยั่งยืนด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย โดยผ่านเครือข่ายชุมชนซึ่งมีศักยภาพในการจัดการตนเองและการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งสอดคล้องกับการส่งเสริมตามแนวทางประชารัฐ

ประโยชน์ในเชิงสังคม

1.ได้ชุมชนต้นแบบที่เกษตรกรมีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการทำเกษตรปลอดภัย แบบอินทรีย์, GAP และอื่นๆ รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่อการผลิตผัก ผลไม้ ที่มีความปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภค โดยได้รับการรับรองการตรวจวิเคราะห์โดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2.สามารถขยายผลให้แปลงเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ได้นำไปปรับใช้เพื่อร่วมกันขยายผลทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืน
3.วางแผนการนำผลผลิตเข้าสู่หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ร่วมกับการวิเคราะห์สถานะสุขภาพและตรวจติดตามภาวะความมีสุขภาวะที่ดีในมิติต่าง ๆ เพื่อมุ่งส่งเสริมให้พัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งการสร้างเสริมสุขภาพต่อไป

ประโยชน์ต่อประเทศ

1.เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชนในการร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย สามารถผลิตเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากและเกษตรกรรมยั่งยืน
2.ส่งเสริมการพัฒนาห้องปฏิบัติการและระบบการรับรองผลผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัยเพื่อการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผ่านการวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมีระบบรับรองคุณภาพผลผลิตที่ปลอดภัย และติดฉลากอาหารปลอดภัย (Recommended food product)
3.เชื่อมโยงแนวทางการขยายตลาดเกษตรและอาหารปลอดภัยไปสู่โรงพยาบาล โรงเรียน หน่วยงานความร่วมมือและตลาดระดับต่างๆ โดยร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง เพื่อร่วมสร้างเสริมสุขภาพ มีหน่วยงานเข้าร่วมรองรับการส่งต่อผลผลิต
4.เกิดการขยายผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่ออนาคต (Food for the Future)

การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างยาฆ่าแมลง โลหะหนัก จุลชีพและเชื้อก่อโรค ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัย

คณะฯ นำร่องการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรปลอดภัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ในพื้นที่หลัก ในการยกระดับมาตรฐานโดยการตรวจรับรองผลผลิตผักและผลไม้จากแปลงเกษตรที่ปลอดจากสารพิษตกค้างยาฆ่าแมลง โดยอาศัยการตรวจวิเคราะห์โดยเทคนิคที่มีความไวและความจำเพาะสูง ได้แก่ GC-MS/MS หรือ LC-MS/MS ทั้งเกษตรแปลงย่อยและเกษตรแปลงใหญ่คือ จังหวัดนครปฐม โครงการ “นครปฐม: โมเดลต้นแบบจังหวัดเกษตรและอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพดีสำหรับประชาชน” ควบคู่กับพื้นที่อื่นๆ บางแห่ง ในจังหวัดภาคกลาง รวม 8 จังหวัด (นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) ในการขยายผลการพัฒนาโมเดลเกษตรและอาหารปลอดภัยในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก เพื่อรองรับนโยบายการขับเคลื่อนไปสู่ Food Innopolis และรองรับทิศทาง Thailand 4.0 ด้วย แนวคิดการตรวจรับรองผลผลิต “เกษตรปลอดภัย” และยกระดับคุณภาพชีวิตในการบริโภคอาหารปลอดภัย ในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ มีการควบคุมคุณภาพโดยการสุ่มตรวจผลผลิตตั้งแต่แปลงปลูก จนถึงการสุ่มตรวจผลผลิตที่ถูกเก็บเกี่ยว คัดแยก และบรรจุ ทำให้สามารถควบคุม ตรวจติดตาม และรับรองผลว่าปลอดภัยตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงมือผู้บริโภค

นอกจากนี้คณะฯ ได้ใช้กระบวนการพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพผลผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัย โดยใช้วิธีสุ่มตรวจผลผลิตจากแปลงเกษตรกร เพื่อเป็นการตรวจสอบย้อนกลับ/แปลงที่มีคุณภาพ โดยมอบประกาศนียบัตรให้แก่เกษตรกรที่ผ่านการรับรองความปลอดภัย ร่วมกับการใช้ตราสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการรับรองผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการ โดยการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการการตรวจรับรองผลผลิตเกษตรปลอดภัยในนาม “MUMT Recommended”

การจัดสัมมนาเครือข่ายและฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมทัศนคติและความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัย

ด้วยแนวทางการเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และแนวทางการส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยการบริโภคอาหารปลอดภัยสุ่มตรวจวิเคราะห์สถานะทางสุขภาพและสารตกค้างในกลุ่มเกษตรกร / กลุ่มที่มีสถานะทางสุขภาพเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCD ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล บุคลากรที่อยู่ในองค์กรรัฐ-เอกชน /ผู้บริโภคทั่วไปกว่า 900 คน และตรวจวิเคราะห์สารตกค้างยาฆ่าแมลง โลหะหนัก และเชื้อก่อโรคในผลผลิตทางการเกษตรและตัวอย่างอาหารมากกว่าา 1,302 แปลง 2,100 ตัวอย่าง 6,500 การทดสอบ

สามารถส่งต่อผลผลิตเกษตรปลอดภัยเข้าสู่โรงพยาบาลต่างๆ 9 โรงพยาบาลในจังหวัดนครปฐม ขยายสู่การสนับสนุนนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 66 โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 5 โรงเรียน 11 แห่ง และผลผลิตถูกเชื่อมโยงไปสู่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดท้องถิ่น ตลาดห้างค้าปลีก ตลาดกลาง ค้าส่ง ตลาดสด ตลาดโรงพยาบาลและร้านอาหารสุขภาพจำนวนหนึ่ง เช่น ตลาดประชารัฐ หรือร้านค้าร่วมในปั๊มน้ำมันบางจาก (SPAR) โดยทางคณะฯ ได้ทำ MOU ร่วมกับบริษัท บางจาก รีเทล จำกัด เพื่อการสนับสนุนความร่วมมือว่าด้วยการรับรองความปลอดภัยและคุณภาพการผลิตประเภทผักสด ผลไม้สดจากแหล่งผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค รวมถึงทำ MOU ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นทางเลือกอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ในความร่วมมือเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน กระบวนการผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ เพื่อการแปรรูปและการจำหน่าย เพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่ออนาคต (Food for the Future)

ขยายผลโครงการต่อเนื่อง ในพื้นที่ 10.5 ไร่ ภายใต้โครงการ “Green Army, Green Farmer เพื่อประเทศชาติและประชาชน”

โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยราชการ ภาคเอกชนและเครือข่ายเกษตรกร โดยมีกรอบแนวคิดที่สำคัญ คือการเปิดพื้นที่ทหารเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ในการผลิตเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากพื้นที่ทหารเป็นพื้นที่ที่สามารถจำกัดขอบเขตการดูแลได้ง่าย อีกทั้งสามารถขยายผลการเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ และแหล่งดูงานด้านวิถีเกษตรปลอดภัยแบบครบวงจร ซึ่งต่อยอดจากโครงการเกษตรพอเพียงตามศาสตร์พระราชาของมณฑลทหารบกที่ 17 จังหวัดกาญจนบุรีที่มีอยู่เดิม ให้แก่หน่วยทหารในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงประชาชนและเกษตรกรผู้สนใจได้นำไปปรับใช้เพื่อร่วมกันขยายผลทั่วทั้งประเทศต่อไป โดยนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “Green Army, Green Farmer เพื่อประเทศชาติและประชาชน” ณ มณฑลทหารบกที่ 17 จ.กาญจนบุรี และมีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองเกษตรปลอดภัย รวม 81 ราย จากพื้นที่กลุ่มภาคกลาง 8 จังหวัด เข้ารับประกาศนียบัตรจากท่านนายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนในพื้นที่เข้าร่วมแสดงผลการดำเนินงานผ่านนิทรรศการและการตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรและศูนย์การเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในโอกาสตรวจเยี่ยมราชการ ณ มณฑลทหารบกที่ 17 คณบดีณะเทคนิคการแพทย์ ได้นำเรียน ผช.ผบ.ทบ. และ ม.ร.ว.เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ มูลนิธิชัยพัฒนา ในการพิจารณาขยายพื้นที่ทหารจาก Model โครงการ “Green Army, Green Farmer เพื่อประเทศชาติและประชาชน” และเกิดการขยายผลการดำเนินงานสู่“โครงการทหารพันธุ์ดี” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการทหารพันธุ์ดี ณ มณฑลทหารบกที่ 17 จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562