คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม และนายกสมาคมไวรัสวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ออกแบบกระบวนการทดสอบเพิ่มเติม โดยอาศัยการตรวจวิเคราะห์ RNA ในส่วนของยีนเจ้าบ้าน (Housekeeping gene) จากเซลล์มนุษย์ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถช่วยตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างตรวจ และป้องกันการแปลผลลบผิดพลาด โดยนับเป็นห้องปฏิบัติการตรวจ Covid-19 แห่งแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มนวัตกรรมดังกล่าว โดยเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ เที่ยงตรง และได้มาตรฐาน
ศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การเก็บสิ่งส่งตรวจที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลลบปลอมขึ้นได้ ซึ่งการนำ Housekeeping gene เข้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อดูสัญญาณการเพิ่มขึ้นของยีนที่บ่งชี้ในเบื้องต้นว่า มีเซลล์ของมนุษย์ หรือเซลล์เจ้าบ้านอยู่ในสิ่งส่งตรวจอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยดูผลร่วมกับการวิเคราะห์หา RNA ของเชื้อไวรัส จะทำให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำขึ้น ซึ่งหากตรวจเจอสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรค Covid-19 จะแปลผลว่า พบการติดเชื้อ
ห้องปฏิบัติการคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ Covid-19 โดยวิธี real-time RT-PCR เพิ่มการวิเคราะห์ RNA ในยีนเจ้าบ้าน (Housekeeping gene) โดยมี 2 รอบการทดสอบ คือ เวลา 09.30 น. และ 14.30 น. ทั้งนี้ สามารถส่งสิ่งส่งตรวจได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์เทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิคนานาชาติ บริเวณชั้น 2 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaipost.net/main/detail/63219