หากกล่าวถึง คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านมุมมองนักศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำกิจกรรมและการเรียนในชั้นเรียนได้นำมาประยุกต์ร่วมกันเพื่อเป็นการให้ความรู้และสร้างประโยชน์ต่อสังคม นักศึกษาทุกคนจะต้องนึกถึง “ค่ายเทคนิคการแพทย์มหิดล สร้างชุมชนสุขภาวะที่ดี” ค่ายนี้ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยนักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์รุ่นที่ 36 ซึ่งในขณะนั้นได้อยู่ชั้นปีที่ 3 โดยมีจุดประสงค์คือ ใช้เวลาในช่วงปิดภาคการศึกษาให้เป็นประโยชน์ โดยการไปตรวจพยาธิในจังหวัดศรีสะเกษ บ้านเกิดของนายอัครเดช บุญเย็น นักศึกษาผู้เป็นประธานค่าย ซึ่งกิจกรรมการไปตรวจพยาธินี้จึงทำให้นักศึกษาทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ “ค่ายพยาธิ” และในปีเดียวกันนั้นมีการเปิดประกวดโครงการ “เพื่อเมืองไทยด้วยใจและใจ” ของบริษัทไทยน้ำทิพย์ นักศึกษาจึงได้ส่งโครงการค่ายรณรงค์เข้าประกวดในชื่อ “รักเมืองไทยร่วมใจไม่กินปลาดิบ” ซึ่งได้รับตำแหน่งชนะเลิศระดับประเทศ ได้เงินรางวัลพร้อมถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นที่ปลื้มปีติแก่นักศึกษาและทางคณะเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากนั้น นักศึกษาก็ได้จัดกิจกรรมค่ายทุก ๆ ปี ซึ่งแต่ละปีชื่อค่ายก็ได้ปรับเปลี่ยนตามบริบทของปีนั้น ๆ เช่น “เทคนิคการแพทย์ร่วมใจ สร้างเสริมสุขภาพชาวไทยเทิดไท้องค์ราชันย์” และในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นปีที่ 16 ของการออกค่าย ทางคณะฯ ได้เล็งเห็นปัญหาด้านสาธารณสุขในประเทศไทยว่ามีความแตกต่างกันออกไปและได้มีเรื่องทักษะทางชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ชื่อค่ายครอบคลุมต่อปัญหาด้านสุขภาพของชุมชน จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายเทคนิคการแพทย์มหิดล สร้างชุมชนสุขภาวะที่ดี” และได้ใช้จนถึงทุกวันนี้

การจัดกิจกรรมออกค่ายจะมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการและเตรียมการเป็นอย่างดี เริ่มจากการสำรวจค่าย การลงพื้นที่ก่อนวันจริง และการลงค่ายใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนักศึกษาจะเป็นคนวางแผน ติดต่อ และดำเนินการด้วยตนเอง โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะใช้ทักษะจากการเรียนใช้ชั้นเรียนแล้วนั้น ยังได้มีประสบการณ์จริงส่งเสริมนักศึกษาให้มีศักยภาพรอบด้าน ในการบริหารจัดการเบื้องต้น การวางแผนรูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับชุมชนนั้น ๆ การจัดสรรงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่สามารถเกิดขึ้นในระหว่างทำกิจกรรมโดยถือเป็นการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอย่างแท้จริง การออกค่ายในแต่ละปีจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์โดยมีจุดประสงค์หลักคือมุ่งเน้นในด้านการบริการสุขภาพเบื้องต้นและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ การหลีกเลี่ยงหรือแนวทางในการป้องกันและปรับปรุงสุขภาวะต่าง ๆ ตามบริบทของแต่ละที่เพื่อให้ชุมชนนั้นมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

การออกค่ายของนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ชั้นปีที่ 3 ถึงแม้จะเป็นการออกปีละครั้งแต่ผลที่ได้จากกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นมีประโยชน์กับชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น การลงค่ายที่จังหวัดสุรินทร์ทางคณะฯ ได้ข้อมูลจำนวนผู้มีภาวะเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน จากการตรวจน้ำตาลในเลือดซึ่งไม่เคยได้รับการตรวจมาก่อน ข้อมูลจำนวนประชาชนที่เป็นต้อลมและต้อเนื้อ ในการลงค่ายที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเกิดจากการเผาซังอ้อยในภูเขา โดยข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะส่งต่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งผู้ดูแลในพื้นที่นั้นๆ ได้ดำเนินการต่อและจากการสอบถามติดตาม ได้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในการออกค่ายที่จังหวัดอำนาจเจริญ ในหมูบ้านที่มีความห่างไกลความเจริญไม่มีถนนเข้าถึง ทางค่ายฯ ได้พบจำนวนประชาชนที่มีลักษณะตัวขาวเผือกจำนวนมาก ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลจึงทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากการแต่งงานในเครือญาติจึงได้มีลักษณะการแสดงออกของยีนด้อยออกมา ทางค่ายจึงได้รายงานปัญหานี้ให้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และได้มีการส่งต่อข้อมูลต่อไปทางอำเภอเพื่อดำเนินการแก้ไข โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้องแกชาวบ้านและส่งเสริมให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งนั้นนักศึกษาได้มีการส่งต่อผลลัพธ์ อุปสรรคพร้อมแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ได้จากกิจกรรมในแต่ละครั้ง ให้รุ่นต่อไป เพื่อพัฒนาต่อยอดกิจกรรมให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างสูงสุด ซึ่งกิจกรรมออกค่ายนี้ถือเป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญของนักเทคนิคการแพทย์ในศตวรรษที่ 21