คู่มือการให้บริการสถานเวชศาสตร์ชันสูตร
หน้าแรก
สถานเวชศาสตร์ชันสูตร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการให้บริการตรวจทางเวชศาสตร์ชันสูตร โดยถือคุณภาพและประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ การให้บริการดังกล่าวจะมีคุณภาพได้ต้องมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายประการซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลักคือ ช่วงก่อนการวิเคราะห์ (Pre – analytical phase) ช่วงการวิเคราะห์ (Analytical phase) และช่วงหลังการวิเคราะห์ (Post – analytical phase) โดยการผิดพลาดส่วนใหญ่มักเกิดจากขั้นตอนก่อนการวิเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการตั้งแต่การเตรียมผู้ป่วยก่อนการเก็บสิ่งส่งตรวจ ขั้นตอนการเก็บสิ่งส่งตรวจ และขั้นตอนการส่งสิ่งส่งตรวจ
สถานเวชศาสตร์ชันสูตรจึงได้จัดทำคู่มือการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการขึ้นตามมาตรฐาน ISO 15189 :2012 เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ใช้บริการในการเตรียมตัวและจัดเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อให้ได้สิ่งส่งตรวจที่มีคุณภาพและทำให้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่ได้มีคุณภาพถูกต้องและแม่นยำ คู่มือฉบับนี้ประกอบด้วยรายการตรวจวิเคราะห์ที่ให้บริการ ตัวอย่างใบขอส่งตรวจ การเก็บสิ่งส่งตรวจ การส่งสิ่งส่งตรวจ ราคาค่าตรวจ ค่าอ้างอิงในคนปกติ การรายงานผล รวมทั้งระยะเวลาในการขอตรวจเพิ่มเติมจากสิ่งส่งตรวจเดิม โดยค่าอ้างอิงในคนปกติ โดยมีปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ฉบับที่ใช้นี้เป็นฉบับปัจจุบันเป็นการปรับปรุงครั้ง ที่ 10
ผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคู่มือที่จัดทำขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ พยาบาล ผู้รับบริการหรือบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสิ่งส่งตรวจที่มีคุณภาพนำไปสู่ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้องและแม่นยำในการรักษาพยาบาลและการพยากรณ์โรคต่อไป และหากท่านมีข้อสงสัย ข้อเสนอแนะ และคำแนะนำ ท่านสามารถแจ้ง มายังสถานเวชศาสตร์ชันสูตร จักเป็นพระคุณยิ่ง
การทดสอบให้บริการ
การทดสอบที่ห้องปฏิบัติการสถานเวชศาสตร์ชันสูตร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการ มีดังนี้
ABO blood group | Inclusion bodies | Rh blood group |
Bence Jones protein | Malaria | Routine examination for stool specimen |
CBC | Occult blood for stool specimen (IFOBT) | Routine urinalysis |
Concentration technique for stool specimen | Permanent staining for protozoa (IFOBT) | |
Hematocrit | Reticulocyte count |
- Chromosome analysis (Karyotyping) – Amniotic fluid
- Chromosome analysis (Karyotyping) – Blood (Constitutional)
- Chromosome analysis (Karyotyping) – Hematologic malignancies
ใบคำขอส่งตรวจ
วิธีการกรอกใบขอตรวจ กรอกใบส่งตรวจให้ถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน ตามชนิดการทดสอบ ในกรณีที่ใบส่งตรวจมีการทดสอบไม่ครบตามที่จะจัดส่ง สามารถเขียนเพิ่มเติมในช่องการทดสอบอื่น (Other…..) การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการสถานเวชศาสตร์ชันสูตร สามารถใช้ใบขอตรวจที่จัดทำโดยคณะเทคนิคการแพทย์ มีดังนี้
- ใบคำขอส่งตรวจสถานเวชศาสตร์ชันสูตร (2.1)
- ใบคำขอส่งตรวจการทดสอบทางเวชพันธุศาสตร์ (2.2)
– ใบส่งตรวจ Chromosome analysis (Karyotyping)
– ใบส่งตรวจวิเคราะห์โครโมโซมในมะเร็งระบบโลหิต - ใบคำขอส่งตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid 2019) (2.3)
การเตรียมผู้ป่วยและการเก็บสิ่งส่งตรวจ
รายการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ต้องมีการเตรียมผู้ป่วย เฉพาะบางรายการเท่านั้นที่ต้องมีการเตรียมผู้ป่วย โดยสรุปรายการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นต้องมีการเตรียมผู้ป่วยมีดังต่อไปนี้
1) งดอาหาร 8 ชั่วโมง
: Glucose
2) งดอาหาร 12 ชั่วโมง
: Beta-cross Laps | Calcium | Folate | Inorganic phosphate | Osteocalcin (N-MID) | PTH | Triglyceride | Vitamin B12
3) งด Alcohol 72 ชั่วโมง
: Triglyceride
4) ควรเจาะเลือดส่งตรวจในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน (8.00 -10.00 น.)
: APTT ratio | Beta-cross Laps | Calcium | Cortisol | Inorganic phosphate | Occult blood for stool specimen | Osteocalcin (N-MID) | Prolactin | PTH
5) ไม่ควรรัดแขนผู้ป่วยนานเกินไป
: Electrolytes | LDH
แนวทางปฏิบัติการเลือกใช้ภาชนะและหลอดเลือดสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งส่งตรวจที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับการตรวจวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลใกล้เคียงกับสิ่งส่งตรวจในร่างกายให้มากที่สุด
ชนิดของภาชนะจัดเก็บ | สารป้องกันการเสื่อมสภาพในภาชนะ | ชนิดการทดสอบที่เลือกใช้ |
หลอดจุกสีแดง | ไม่มีสารกันเลือดแข็ง มี 2 ชนิด เป็นหลอดเปล่าหรือหลอดบรรจุเม็ดพลาสติกเพื่อกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด | การตรวจทางเคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยา ซีโรโลยี และพิษวิทยา เป็นส่วนใหญ่ (กรุณาตรวจสอบในคู่มือเนื่องจากการทดสอบบางชนิดไม่สามารถใช้หลอดชนิดนี้ได้) |
หลอดจุกสีเขียว | Lithium heparin | การตรวจทางเคมีคลินิกภูมิคุ้มกันวิทยา ซีโรโลยี เป็นส่วนใหญ่ (กรุณาตรวจสอบในคู่มือเนื่องจากการทดสอบบางชนิดไม่สามารถใช้หลอดชนิดนี้ได้) |
หลอดจุกสีเทา | Sodium fluoride (NaF) | ใช้สำหรับตรวจหา Glucose |
หลอดจุกสีม่วง | K3 EDTA | การตรวจทางโลหิตวิทยา : ได้แก่ CBC, ESR การตรวจทางเคมีคลินิก : ได้แก่ HbA1c, β-CrossLaps, Total P1NP และ Osteocalcin (N-MID) การตรวจทางพิษวิทยา : ได้แก่ Cd Pb, Hg |
หลอดจุกสีฟ้า | 3.2% Sodium citrate | การตรวจทางโลหิตวิทยา ในระบบการห้ามเลือด |
กระป๋องพลาสติกมีฝาปิด | ไม่มีสาร | การทดสอบทางจุลทรรศนศาสตร์คลินิก การตรวจปัสสาวะ และอุจจาระ |
หลอดปราศจากเชื้อ | ไม่มีสาร | การทดสอบความผิดปกติของโครโมโซม Chromosome Analysis |
หลอดปราศจากเชื้อ | VTM/UTM | การทดสอบวินิจฉัยโรคระดับโมเลกุล เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) |
หมายเหตุ
1. ปริมาตรที่ใช้ให้ใส่ตามปริมาตรที่ระบุไว้ข้างหลอดเก็บเลือด เพื่อให้ได้อัตราส่วนระหว่าง สารกันเลือดแข็งกับปริมาตรของเลือดที่ถูกต้อง
2. การตรวจทางเคมีส่วนใหญ่ ภูมิคุ้มกันวิทยา ซีโรโลยี ใช้ได้ ทั้งหลอดไม่มีสารกันเลือดแข็ง (หลอดฝาสีแดง) และหลอดที่มีสารกันเลือดแข็งชนิด Lithium heparin (หลอดฝาสีเขียว ) ยกเว้นการทดสอบต่อไปนี้
2.1 การตรวจวิเคราะห์ที่ใช้เฉพาะหลอดที่มีสารกันเลือดแข็ง EDTA (หลอดฝาสีม่วง) คือ HbA1c , β-CrossLaps ,Total P1NP และ Osteocalcin (N-MID)
2.2 การตรวจวิเคราะห์ที่ใช้เฉพาะหลอดที่มีสารกันเลือดแข็ง NaF (หลอดฝาสีเทา) คือ Glucose
เลือกภาชนะเก็บสิ่งส่งตรวจให้ตรงกับชนิดการทดสอที่ที่จะส่งตรวจ
🠗
ป้ายชื่อต้องมี ชื่อ – นามสกุล HN เขียนหรือพิมพ์ไว้ให้เห็นชัดเจนอ่านง่าย
🠗
ปิดป้ายชื่อในแนวตรง ให้เห็นแถบบอกชนิดของหลอด และปริมาตรที่กำหนดไว้สำหรับใส่เลือด
และเว้นช่องว่างให้เห็นเลือดในหลอด
หมายเหตุ
ขนาดของป้ายชื่อควรให้มีความยาวเท่ากับหรือสั้นกว่าขนาดขอภาชนะ ในกรณีที่ป้ายชื่อมีความยาวมากกว่าให้ตัดส่วนเกินออก โดยเหลือส่วนที่เป็น HN และชื่อ-นามสกุล
1. ตรวจดูป้ายชื่อผู้รับบริการที่ติดในใบรับผล/ใบขอตรวจ และหลอดเก็บเลือดว่าตรงกันหรือไม่
2. ตรวจสอบชนิดของหลอดเก็บเลือดว่าครบตามการสั่งตรวจตามระบุในใบรับผล/ใบขอตรวจ หรือไม่
3. ตรวจสอบ ชื่อ-นามสกุล ของผู้รับบริการ ก่อนการเจาะเลือด
4. รัดแขนแบบเงื่อนกระตุกเหนือตำแหน่งที่จะแทงเข็ม 2-3 นิ้ว ไม่ควรรัดแขนผู้รับบริการนานเกิน 1 นาที เนื่องจากอาจทำให้ค่าการตรวจวิเคราะห์บางชนิดสูงเกินจริง
5. ให้ผู้รับบริการกำมือ ไม่ควรให้ผู้รับบริการกำ และแบมือซ้ำ ๆ หรือพับแขนขึ้นลงเพื่อให้เห็นเส้นเลือด เนื่องจากอาจทำให้ค่าการวิเคราะห์บางค่าผิดพลาดได้
6. ไม่ควรเจาะแขนข้างที่กำลังให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือด และแขนข้างที่ผ่าตัดเต้านมซึ่งอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากน้ำเหลืองคั่ง
7. ถ้าไม่เจาะเลือดโดยวิธีสุญญากาศไม่ให้เปิดฝาจุก ให้ใช้เข็มแทงผ่านจุกแล้วค่อย ๆ ให้ระบบสุญญากาศดูดเลือดเข้าไปเอง ไม่ต้องดันลูกสูบกระบอกฉีดยาเพราะจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
8. ในกรณีทีมีการส่งเลือดหลายหลอด ให้ลำดับการใส่เลือดลงหลอดเลือดดังนี้
8.1 หลอด Sodium citrate
8.2 หลอด Clotted blood
8.3 หลอด Lithium heparin
8.4 หลอด EDTA
8.5 หลอด Sodium fluoride
9. เมื่อใส่เลือดลงหลอดแล้วให้ทำการเอียงหลอดเลือดเบา ๆ ประมาณ 8-10 ครั้งเพื่อให้เลือด และสารกันเลือดแข็งที่อยู่ในหลอดผสมกันดีและเลือดไม่แข็งตัว ยกเว้นหลอดที่ไม่มีสารกันเลือดแข็งไม่ต้องเอียง
10. เซ็นชื่อผู้เจาะเลือดในใบนำส่ง กรณีที่เจาะเลือดมาเองนอกห้องปฏิบัติการ
ชนิดของการเก็บปัสสาวะ
1. Random urine (Spot urine) หมายถึง ปัสสาวะที่เก็บได้จากการถ่ายแต่ละครั้งแล้วนำมาตรวจทันที
2. First morning urine หมายถึง ปัสสาวะที่เก็บครั้งแรกหลังจากการตื่นนอนตอนเช้า
3. 24 hrs urine หมายถึง ปัสสาวะที่เก็บให้ครบทั้งหมดภายในเวลา 24 ชั่วโมง
วิธีการเก็บปัสสาวะ
1. การเก็บปัสสาวะตรวจ Urine analysis (Mid stream urine)
1.1 ทำควรสะอาดบริเวณอวัยวะขับถ่ายก่อนการเก็บ
1.2 ถ่ายปัสสาวะในช่วงแรกทิ้งไปก่อนเล็กน้อยและเก็บปัสสาวช่วงกลางให้ได้ปริมาตรไม่น้อยกว่า 10 มิลลิลิตร ใส่ภาชนะปากกว้างที่สะอาดแห้งสนิท
1.3 ปัสสาวะในช่วงท้ายทิ้งไป
1.4 ปิดฝาภาชนะให้สนิทก่อนนำส่ง
1.5 ติดป้ายชื่อข้างภาชนะโดยมีรายละเอียดอย่างน้อย ชื่อ-นามสกุล และ HN ให้เห็นชัดเจนอ่านง่าย
2. การเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจวิเคราะห์ Calcium, Phosphorus และ Magnesium
2.1 เตรียมภาชนะสำหรับบรรจุปัสสาวะ 1- 2 ลิตร ล้างให้สะอาดแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง เตรียมสารรักษาสภาพ 6 N HCl 10 มิลลิลิตร
2.2 ติดฉลาก ชื่อ- สกุล เวลาและวันที่เริ่มและสิ้นสุดการเก็บ ไว้ที่ข้างภาชนะ
2.3 ก่อนจับเวลาให้ถ่ายปัสสาวะทิ้งให้หมด เพื่อเป็นการล้างกระเพาะปัสสาวะให้ว่าง แล้วเริ่มจับเวลา
2.4 ในครั้งแรกที่ปัสสาวะหลังจากเริ่มจับเวลาให้ปัสสาวะใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้แล้วจึงเติม 6 N HCl 10 มิลลิลิตรหลังจากนั้นทุกครั้งที่ปวดปัสสาวะให้เก็บปัสสาวะทั้งหมดลงขวดที่มีสารรักษาสภาพ จนครบ 24 ชั่วโมง
2.5 เมื่อครบ 24 ชั่วโมงให้ถ่ายปัสสาวะครั้งสุดท้ายเก็บใส่ในภาชนะที่มีสารรักษาสภาพ
2.6 การนำส่งในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่หอผู้ป่วยหรือที่สถานที่ที่มีกระบอกตวงให้พยาบาล/ผู้ป่วย/ผู้ดูแลผู้ป่วย นำหลอดที่ใส่ 6 N HCl ที่ได้จากห้องปฏิบัติการล้างแล้วทิ้งให้แห้ง นำมาติดป้ายชื่อ – สกุล และวันที่ให้เขย่าผสมปัสสาวะให้เข้ากันดี ตวงปริมาตรทั้งหมด และจดปริมาตรลงในใบส่งตรวจและหลอดเก็บปัสสาวะแบ่งปัสสาวะ 10 มิลลิลิตรปิดฝาหลอดให้เรียบร้อย แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการ หากไม่สามารถส่งไปในเวลาทำการ ให้เก็บปัสสาวะไว้ในตู้เย็นที่ 2 – 8 องศาส่งปัสสาวะที่วัดปริมาตรแล้วพร้อมใบสั่งตรวจมายังห้องปฏิบัติการในเวลาราชการ
2.7 กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถตรวจปัสสาวะได้ ให้ผู้ป่วยนำส่งปัสสาวะทั้งหมดมาที่ห้องปฏิบัติการในเวลาราชการ ห้องปฏิบัติการจะทำการตวงสิ่งส่งตรวจให้และทำการจัดเก็บสิ่งส่งตรวจตามข้อ 2.6
3. การเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจวิเคราะห์ Uric acid ปฏิบัติการเก็บปัสสาวะ 24 ชม. ทำเช่นเดียวกับข้อ 2.1 ยกเว้นขวดที่ใช้เก็บปัสสาวะให้ใส่สารป้องกันการเสื่อมสภาพ NaOH แทน6 N HCL และต้องเก็บขวดปัสสาวะในตู้เย็นจนกว่าจะครบ 24 ชม.
4. การเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจวิเคราะห์อื่น ๆ ไม่ต้องใส่สารป้องกันการเสื่อมสภาพ ให้เก็บเหมือน ข้อ 2 และ 3 โดยไม่ต้องเติม 6 N HCl หรือ NaOH กรณีการเก็บปัสสาวะที่เป็น Urine Glucose ให้เก็บในขวดสีชา แช่น้ำแข็งขณะส่งห้องปฏิบัติการ
การเก็บอุจจาระตรวจ stool examination
การเก็บอุจจาระใส่ภาชนะและปิดฝาให้สนิทก่อนนำส่ง กรณีที่มีมูกเลือดควรเก็บบริเวณที่มีมูกเลือดมาตรวจ ห้ามส่งเป็นกระดาษป้ายอุจจาระหรือเก็บอุจจาระที่มีกระดาษชำระปนเปื้อนมาเพราะจะมีผลต่อการทดสอบในกรณีที่อุจจาระเหลว
1. ก่อนเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยให้เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน รวมถึงหลอดเก็บตัวอย่าง พร้อมทั้งติดฉลาก ป้ายชื่อต้องมี ชื่อ–นามสกุล HN2. ควรเก็บตัวอย่างเร็วที่สุด เมื่อผู้ป่วยเริ่มปรากฎอาการของโรค อย่างช้าภายใน 3-5 วัน
3. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปอดบวม ปอดอักเสบ ควรเก็บตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น bronchoalveolar และ tracheal aspirate เก็บปริมาตรอย่างน้อย 2-3 mL, sputum เก็บปริมาตรอย่างน้อย 0.5-1 mL ใส่ภาชนะปลอดเชื้อไม่ต้องใส่ UTM/VTM ยกเว้นกรณีผู้ป่วยใส่ tube ให้ตัดสาย ET-tube จุ่มลงในหลอด UTM/VTM และควรเก็บตัวอย่างจากทางเดินหายใจส่วนบนควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสการพบเชื้อจากการเก็บตัวอย่างหลายระบบ
4. ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ให้เก็บตัวอย่าง เช่น nasopharyngeal aspirate, nasopharyngeal wash, nasopharyngeal swab, throat swab
5. ผู้ป่วยที่เก็บตัวอย่างเป็น swab ควรเก็บ nasopharyngeal swab ร่วมกับ throat swab ใส่ใน UTM/VTM ในหลอดเดียวกันเพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัส (ใช้ Dacron หรือ Rayon swab ที่ก้านทำด้วยลวดหรือพลาสติก และไม่มีสาร calcium alginate เมื่อป้ายเสร็จให้จุ่มลงในหลอด UTM/VTM ปริมาตร 1 หรือ 2 mL แล้วหักหรือตัดปลายด้าม swab ทิ้งเพื่อปิดหลอดตัวอย่างได้สนิท
6. บรรจุตัวอย่างในหลอดที่ป้องกันการรั่วไหล (Leak proof) เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว ปิดฝาหลอดหรือภาชนะเก็บตัวอย่างให้สนิทพันด้วย เทป แล้วถอดถุงมือชั้นนอกสุด เปลี่ยนสวมถุงมือคู่ใหม่เพื่อลดการปนเปื้อน ภายนอกหลอดวัตถุตัวอย่างให้เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 0.1 % โซดียมไฮโปคลอไรต์
7. เมื่อเก็บตัวอย่างแล้วต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งทันทีหรือเก็บในตู้เย็น อุณหภูมิ 2-8 °C แล้วส่งห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชั่วโมง กรณีที่ไม่สามารถส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง ให้เก็บในตู้แช่ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -70 °C ขึ้นไป
เจาะน้ำคร่ำ
เจาะน้ำคร่ำจากครรภ์อายุ 15 – 20 สัปดาห์ โดยสูติแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น โดยใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำคร่ำปริมาตร 15 – 20 mL แบ่งบรรจุกระบอกละ 7 – 10 mL ปิดปลายกระบอกฉีดยาด้วยจุกปิดหรือเข็มปลอดเชื้อปิดปลอกให้สนิท พันล็อกก้านกระบอกสูบและปลอกเข็มด้วย parafilm ให้แน่น นำส่งทั้งกระบอกฉีดยา หรือถ่ายน้ำคร่ำในหลอดพลาสติก polypropylene ชนิดปลอดเชื้อ 2 หลอด ปิดฝาให้สนิทพันทับด้วย parafilm ให้แน่น ป้องกันตัวอย่างหกรั่ว ปิดฉลากระบุชื่อ-นามสกุลผู้ป่วย และนำส่งห้องปฏิบัติการพร้อมใบส่งตรวจ
การส่งตรววจกรณีครรภ์แฝด ควรแยกส่งตัวอย่างน้ำคร่ำแต่ละถุง โดยระบุชื่อบ่งชี้ตัวอย่างให้ชัดเจน เช่น Twin A, Twin B เป็นต้น
การเจาะเลือด
– เจาะเลือดจากเส้นเลือดดำที่ท้องแขนด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ ปริมาณ 3 – 5 mL (เด็กเล็กให้ใช้ 2 – 3 mL)
– บรรจุในหลอดเลือดปลอดเชื้อผสมสารกันเลือดแข็งชนิด sodium heparin หรือ lithium heparin (หลอดเลือดจุกสีเขียว)
– ปิดฝาให้สินท พลิกหลอดเลือดคว่ำ–หงาย เบา ๆ ให้เลือดผสมเข้ากัน พันทับฝาด้วย parafilm กันหก รั่วซึม ปิดฉลากระบุชื่อ–นามสกุลผู้ป่วย และนำส่งห้องปฏิบัติการพร้อมใบส่งตรวจ
การเจาะไขกระดูก
– ทำการเจาะไขกระดูกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยใช้กระบอกฉีดยาดูดไขกระดูกปริมาตร 3–5 mL (เด็กเล็กให้ใช้ 2–3 mL) บรรจุในหลอดเลือดปลอดเชื้อผสมสารกันเลือดแข็งชนิด sodium heparin หรือ lithium heparin (หลอดเลือดจุกสีเขียว)
– ผสมให้เข้ากัน พันทับด้วย parafilm ป้องกันการหก รั่วซึม ปิดฉลากระบุชื่อ-นามสกุลผู้ป่วย และนำส่งห้องปฏิบัติการพร้อมใบส่งตรวจ
– กรณีที่ไม่สามารถเจาะไขกระดูกได้ แต่แพทย์ต้องการตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม สามารถใช้ตัวอย่างเลือด (peripheral blood) ที่เจาะเลือดจากเส้นเลือดดำที่ท้องแขนด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ ปริมาตร 3–5 mL (เด็กเล็กให้ใช้ 2– 3mL) บรรจุในหลอดเลือดปลอดเชื้อผสมสารกันเลือดแข็งชนิด sodium หรือ lithium heparin (หลอดเลือดจุกสีเขียว) เพื่อส่งตรวจได้ โดยตรวจสอบข้อมูลตัวอย่างตรวจและใบส่งตรวจให้ตรงกัน ทั้งนี้การเตรียมโครโมโซมจากตัวอย่างเลือดอาจให้ผลไม่ดีเท่ากับการเตรียมจากไขกระดูก
ขั้นตอนและสถานที่ส่งสิ่งส่งตรวจ
การนำส่งสิ่งส่งตรวจเพื่อทำการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยทั่วไปแล้วควรส่งทันทีหลังจากเจาะเลือดหรือไม่ควรช้าเกิน 2 ชั่วโมง หลังจากเจาะเลือด อย่างไรก็ตาม ในการเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ บางการทดสอบ มีเงื่อนไขพิเศษในการส่งตรวจดังนี้
สิ่งส่งตรวจที่ควรส่ง ภายใน 1 ชั่วโมง หลังเจาะเลือด
APTT | Folate | Electrolytes | Glucose (ในหลอดที่ไม่มีสารกันเลือดแข็งชนิด NaF)
สิ่งส่งตรวจที่ควรส่ง ภายใน 2 ชั่วโมง หลังเจาะเลือด
Calcium | Magnesium | CBC | PTH | Inorganic | Phosphate PT-INR
สิ่งส่งตรวจที่ควรส่ง ภายใน 3 ชั่วโมง หลังเจาะเลือด (ต้องระวังไม่ให้โดนแสงแดด และความร้อน)
Concentration technic for stool specimen | Routine examination for stool specimen
Occult blood for stool | specimen Staining for Cryptosporidium oocyst
Permanent staining for protozoa
สิ่งส่งตรวจที่ต้องระวัง ไม่ให้โดนแสง
CPK | Total bilirubin | Direct bilirubin | Vitamin B12 | Folate
ห้ามแช่น้ำแข็งหรือเก็บตู้เย็น
Electrolytes | LDH
สถานเวชศาสตร์ชันสูตร มีขั้นตอนการปฏิเสธสิ่งส่งตรวจเพื่อให้ผู้ขอรับบริการได้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่ถูกต้อง และมีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับสิ่งส่งตรวจจะทำการตรวจสอบสิ่งส่งตรวจก่อนการนำส่งเข้าขบวนการตรวจวิเคราะห์ ตามเกณฑ์การปฏิเสธสิ่งส่งตรวจดังนี้
1. สิ่งส่งตรวจที่ไม่มีใบขอส่งตรวจวิเคราะห์
2. ชื่อ-สกุลในใบขอส่งตรวจวิเคราะห์กับชื่อบนสิ่งส่งตรวจไม่ตรงกัน
3. ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าสิ่งส่งตรวจนั้นเป็นของบุคคลใด ยกเว้นสิ่งส่งตรวจที่เก็บยาก เช่น CSF
4. ภาชนะที่เก็บตัวอย่างตรวจหรือการใช้สารกันเลือดแข็งไม่ถูกต้องตามที่ได้ระบุไว้ในคู่มือการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถานเวชศาสตร์ชันสูตร
5. ปริมาณสิ่งส่งตรวจไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์
6. ปริมาณเลือดกับสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดไม่ได้สัดส่วนกัน
7. สิ่งส่งตรวจไม่ได้มาตรฐาน ตามคู่มือการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถานเวชศาสตร์ชันสูตร เช่น สิ่งส่งตรวจมี hemolysis ที่มีผลต่อการทดสอบ เช่น Potassium ,LDH, CBC, APTT, PT สิ่งส่งตรวจที่มีก้อน clot ไม่สามารถทำการตรวจวิเคราะห์ได้ เช่น CBC, ESR, PT, APTT, HbA1c
8. สิ่งส่งตรวจที่ส่งถึงห้องปฏิบัติการช้ากว่ากำหนดที่ได้ระบุไว้ในคู่มือการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถานเวชศาสตร์ชันสูตร
9. สิ่งส่งตรวจมีการหกเลอะภาชนะที่เก็บสิ่งส่งตรวจหรือใบขอตรวจวิเคราะห์
10. สิ่งส่งตรวจมีอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมกับการตรวจวิเคราะห์
11. กรณีที่มีใบสิ่งส่งตรวจแต่ไม่มีสิ่งส่งตรวจ
สถานเวชศาสตร์ชันสูตร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 4 ห้อง 418 โรงพยาบาลศิริราช
เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 02– 419-7395, 02-419-7398
เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ) ตั้งแต่เวลา 6.00–16.30 น.
ห้องปฏิบัติการการทดสอบวินิจฉัยโรคระดับโมเลกุล
เลขที่ 999 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลาขา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ ชั้น 6 ห้อง 620
โทร.0-2441-4371 ต่อ 26 10 Fax. 0-2441-4380
ห้องปฏิบัติการหน่วยเวชพันธุศาสตร์ สถานเวชศาสตร์ชันสูตร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ.วังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
โทร 02-419-7169 หรือ 02-419-7166 ต่อ 172 โทรสาร 02-412-4110
การขอตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมหรือตรวจซ้ำ
การขอตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมหรือตรวจซ้ำ ทำได้โดยการขอติดต่อที่สถานเวชศาสตร์ชันสูตรโดยตรง เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจะทำการตรวจสอบว่ามีสิ่งส่งตรวจพอที่จะทำการตรวจวิเคราะห์หรือไม่ ถ้ามีเพียงพอจะแจ้งให้ผู้รับบริการทราบ ผู้รับบริการจะต้องเขียนใบส่งตรวจเพิ่มเติมหรือขอตรวจซ้ำส่งมายังห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งเขียน lab number และระบุว่าได้ทำการเจาะเลือดไว้แล้วในใบส่งตรวจเพิ่มเติม
ระยะเวลาที่สามารถ/ไม่สามารถ ขอตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจซ้ำได้ (นับตั้งแต่รับสิ่งส่งตรวจ)
การทดสอบที่ไม่สามารถขอตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจซ้ำได้
Bicarbonate (Total CO2) | Glucose (ในหลอดที่ไม่มีสารกันเลือดแข็งชนิด NaF)
การทดสอบที่สามารถตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจซ้ำได้ภายใน 2 ชั่วโมง
APTT | Electrolyte | CBC | PT-INR | ESR | Routine urinalysis
การทดสอบที่สามารถตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจซ้ำได้ภายใน 8 ชั่วโมง
ALT | Total Vitamin D | AST
การทดสอบที่สามารถตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจซ้ำได้ภายในวันที่ส่งสิ่งส่งตรวจ
Concentration technic for stool specimen | Reticulocyte count | Occult blood for stool specimen (IFOBT)
Urine Microalbumin | Permanent staining for protozoa | Routine examination for stool specimen
Staining for Cryptosporidium oocyst
การทดสอบอื่น ๆ นอกจากนี้ สามารถขอเพิ่มได้ตามระยะเวลาการเก็บสิ่งส่งตรวจประมาณ 24ชั่วโมง หรือตามรายละเอียดในแต่ละการทดสอบ
การรายงานผลการตรวจ
การรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในกรณีปกติ
เมื่อห้องปฏิบัติการทำการตรวจวิเคราะห์เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ทำการวิเคราะห์จะตรวจสอบผลก่อนป้อนผลเข้าระบบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ทวนสอบผลในภาพรวมของผู้ป่วยจะตรวจสอบผล และลงลายมือชื่อพร้อมชื่อ-นามสกุล และตำแหน่งกำกับ แล้วนำผลใส่ซองให้เจ้าหน้าที่เรียกชื่อผู้ป่วยมารับผล โดยผู้ป่วย/ผู้รับบริการต้องนำใบรับผลมารับผลด้วยตัวเองในเวลาทำการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 6.00–16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ
การรายงานผลโดยใช้ค่าความไม่แน่นอนของการวัด (Uncertainty)
ความไม่แน่นอนของการวัด เป็นพารามิเตอร์ตัวหนึ่งที่สัมพันธ์กับผลการวัดซึ่งแสดงลักษณะการกระจายของค่าซึ่งเชื่อถือได้ว่าเป็นค่าจริงของสิ่งที่ต้องการวัด(measurane) อย่างสมควรจะเป็นการรายงานผล ห้องปฏิบัติการจะรายงานผลที่วิเคราะห์ได้เฉพาะการทดสอบที่มีการร้องขอจากแพทย์หรือผู้รับบริการ
ตัวอย่างการรายงานผลโดยใช้ค่าความไม่แน่นอนของการวัด
Glucose 110 mg/dL ค่า Expanded relative std 0.050 ค่า Expanded Uncertainty (U) มีค่า 110 * 0.050 = 5.5 mg/dL การรายงานค่า Glucose = 110 ± 5.5 * mg/dL * ค่าความไม่แน่นอนขยายที่รายงานนี้ได้จากการคูณค่าความไม่แน่นอนรวมด้วยตัวประกอบครอบคลุม (k=2) ที่ระดับความน่าเชื่อถือ 95% |
ห้องปฏิบัติการสถานเวชศาสตร์ชันสูตรได้ใช้ค่าวิกฤตของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเกณฑ์ในการรายงานผลค่าวิกฤต โดยจะดำเนินการโทรศัพท์แจ้งแก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยตามเบอร์โทรศัพท์ที่ได้แจ้งไว้ในใบขอส่งตรวจ เพื่อให้สามารถดำเนินการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยได้ทันเวลา โดยในการโทรศัพท์แจ้งผลนี้ สถานเวชฯ จะต้องบันทึกชื่อผู้แจ้ง เวลาที่แจ้งผล ผู้รับแจ้งผล ตำแหน่ง หอผู้ป่วย ลงในแบบบันทึกการรายงานผลค่าวิกฤติ (SD-QP-MT-005-02) และขอให้ผู้รับแจ้งทำการทวนผลที่แจ้งให้ทราบเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น หลังจากโทรแจ้งแล้วให้ ผู้รับแจ้ง / ผู้รับบริการ / ผู้แทน มารับใบรายงานฉบับจริงโดยในใบรายงานผลจะมีเครื่องหมาย (CV) หลังผลที่มีค่าวิกฤต เจ้าหน้าที่ทวนสอบผลจะประทับตราด้วยสีแดงว่า “ ค่าวิกฤต ” ก่อนบรรจุใส่ซองส่งให้ผู้มาติดต่อ
ชื่อการทดสอบ | หน่วย | ค่าวิกฤตค่าต่ำ | ค่าวิกฤตค่าต่ำ |
Glucose | mg/dL | <40 | >400 |
Sodium | mmol/L | <120 | >160 |
Potassium | mmol/L | <2.8 | >6.0 |
Total Calaium | mg/dL | <6 | >13 |
Magnesium | mg/dL | <1 | >4.7 |
Hemoglobin | g/dL | <7 | – |
WBC count | x10^9/L | – | >100 |
Platelet | x10^10/L | <=10 | – |
PT INR | ไม่มี | – | >5 |
APTT | Sec | – | >100 |
* อ้างตามเกณฑ์ของห้องปฏิบัติการภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ยกเว้น WBC Count, Hemoglobin, Hematocrit, Platelet Count ใช้ตามเกณฑ์ของห้องปฏิบัติการสาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
การรายงานผลทางโทรศัพท์
สถานเวชศาสตร์ชันสูตร ไม่มีนโยบายในการรายงานผลทางโทรศัพท์ ยกเว้นค่าวิกฤต
การรายงานผลทางโทรสาร และจดหมายอิเล็กโทรนิก
สถานเวชศาสตร์ชันสูตรจะทำการส่งรายงานผลทางโทรสาร และจดหมายอิเล็กโทรนิก เฉพาะหน่วยงาน/บุคลล ที่ทำการขอส่งตรวจเป็นกรณีพิเศษ โดยหน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวต้องกรอกแบบฟอร์มการขอส่งตรวจในกรณีพิเศษพร้อมทั้งเอกสารยืนเอกสารแสดงความจำนงค์ระบุรายละเอียด เบอร์โทรสาร และ/หรือ ที่อยู่จดหมายอิเล็กโทรนิก มายังหัวหน้าสถานเวชศาสตร์ชันสูตรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณาคำขอดังกล่าว เมื่อห้องปฏิบัติการพิจารณาแล้วว่ามีเหตุอันควรให้ดำเนินการได้ ห้องปฏิบัติการจะทำการประสานงานแจ้งรายละเอียดการจัดส่งให้ โดยเมื่อการจัดส่งรายงานผลออกจากสถานเวชศาสตร์ชันสูตรแล้ว ผู้แจ้งจำนงค์จะต้องรับผิดชอบในใบรายงานผลการปกปิดผลเพื่อรักษาความลับของผู้รับบริการเมื่อผลถูกส่งตามที่ได้ระบุไว้ในแบบคำขอ
คู่มือการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สถานเวชศาสตร์ชันสูตร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับปรุงครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 เอกสารฉบับนี้เป็นลิขสิทธิ์ของสถานเวชศาสตร์ชันสูตร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล |